วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โมเดลธุรกิจ ฟรีแต่มีกำไร

รายงาน : โมเดลธุรกิจ ฟรีแต่มีกำไร

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
หลังจากประสบความสำเร็จกับหนังสือ The Long Tail : Why the Future of Business is Selling Less of More ที่วางจำหน่ายเมื่อ 4 ปีก่อน และติดอันดับหนังสือขายดี

ปี 2552 แอนเดอร์สัน กำลังจะกลับมาอีกครั้งกับหนังสือเล่มใหม่ "Free" (กำหนดวางขายเดือนกรกฎาคม) ว่าด้วยความหมายของ "ราคา" สินค้าและบริการของยุคอินเทอร์เน็ต ระหว่างรอหนังสือวางแผง เขาส่งบทความเรียกน้ำย่อยก่อนชื่อ The Economics of Giving It Away ลงพิมพ์ใน Wall Street Journal ฉบับวันที่ 31 มกราคม 2552

แอนเดอร์สันเริ่มต้นด้วยการอธิบายปรากฏการณ์ของราคาสินค้าในยุคดิจิทัล ที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ จนเกือบถึงศูนย์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตซ้ำและแจกจ่ายสินค้าแทบไม่มีค่าใช้จ่าย บริษัทและผู้ประกอบการต่างหันมาใช้โมเดลธุรกิจ "แจกสินค้าฟรีให้กับลูกค้าส่วนมาก และหารายได้จากลูกค้าส่วนน้อย" แทนการหากำไรจากสินค้าชิ้นต่อชิ้น

จะว่าใหม่คงไม่ใหม่ ยกตัวอย่าง ฟรีทีวี แพร่ภาพกระจายเสียงได้เพราะมีรายได้จากโฆษณา ต่างจากเคเบิลทีวีที่มีรายได้จากการบอกรับสมาชิก (แต่เริ่มมีโฆษณาแฝงแล้ว) ในยุคอินเทอร์เน็ตแนวทางดังกล่าวเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติมากขึ้น ครอบคลุมสินค้ามากชนิด

ในโลกของเกมออนไลน์ บริษัทเกมทั้งหลายต่างพยายามแจกซีดีของตัวเกมออกไปให้มากที่สุด แล้วหากินจากการขายสินค้าเสมือนในเกมให้กับผู้เล่น

สินค้าและบริการ "ฟรี" หลายๆ ตัวก็มีคุณภาพสูงพอที่จะใช้งานแทนสินค้าแบบเดิมได้ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ผู้บริโภค ย้ายมาใช้บริการฟรีบนอินเทอร์เน็ตแทนสินค้าแบบเดียวกัน เช่น โทรศัพท์ข้ามโลกด้วย Skype แทนการคุยผ่านโทรศัพท์บ้าน หรือบางคนอาจเลิกเป็นสมาชิกเคเบิลทีวี แล้วหันมาดูวีดิโอออนไลน์แทน

โดยทั่วไปแล้ว "ผู้จ่ายเงินจำนวนน้อย" บนโลกไซเบอร์แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ยินดีซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการรุ่นพรีเมี่ยม ที่มีความสามารถมากกว่าปกติ กลุ่มผู้ลงโฆษณาและกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ (เช่น กูเกิลหรือไมโครซอฟท์) ที่เข้าซื้อกิจการของเว็บขนาดเล็กแต่มีฐานลูกค้าฟรีจำนวนมาก ที่ผ่านมา โมเดลธุรกิจเหล่านี้ สามารถทำงานได้ค่อนข้างดี เห็นได้จากตัวเลขมูลค่าของโฆษณาออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี หรือข่าวการซื้อกิจการเว็บหน้าใหม่ของบริษัท

ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทางออกเพียงหนึ่งเดียวของผู้ประกอบการดิจิทัลยุคนี้ จึงเหลือแค่หาโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ที่ลูกค้ารายย่อยยอมยินดีจะจ่ายสตางค์เพื่อใช้บริการ (จากที่คุ้นเคยกับบริการฟรีมาตลอด)

แอนเดอร์สันเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เค้นสมอง สร้างโมเดลธุรกิจออนไลน์แบบใหม่ๆ ขึ้นมา บริษัทจำนวนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจขึ้นมาได้จะอยู่รอด

แต่ก็มีบริษัทชื่อดังอีกมากที่มีผู้ใช้มากมาย กลับไม่สามารถเปลี่ยนฐานลูกค้าเป็นเงิน ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ YouTube ที่มีคนเข้ามาดูวีดิโอวันละมหาศาล แต่ไม่สามารถหารายได้จากค่าโฆษณาที่สมน้ำสมเนื้อ กับค่าใช้จ่ายด้านแบนด์วิธแต่ละวัน

โมเดลธุรกิจที่แอนเดอร์สันเรียกหานั้น แตกต่างกันออกไปตามแต่ละผลิตภัณฑ์และบริการ ยังไม่มีใครคิดค้นคำตอบสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับทั้งอุตสาหกรรม เป็นไปได้ว่าแอนเดอร์สันอาจเสนอชุดของคำตอบนี้ผ่านหนังสือ "Free" แต่ในอีกความเป็นไปได้หนึ่ง นักคิดแห่งยุคสมัยอย่างแอนเดอร์สันก็อาจไม่รู้คำตอบเช่นกัน


copyright © NKT NEWS CO.,LTD.All Right Reserved.
Contact us :ktwebeditor@nationgroup.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น